ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคกรดไหลย้อนกำเริบ

ยารักษากรดไหลย้อน โรคกระเพาะ บ้านหมอละออง

โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน, โรคน้ำย่อยไหลกลับ, โรคกรดไหลกลับ หรือ โรคเกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease – GERD) หมายถึง ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนกลับขึ้นไประคายเคืองในหลอดอาหารและลำคอ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ลำคอ และกล่องเสียงอักเสบ

กรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย (Syspepsia) เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยจะพบอัตราการเกิดสูงขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป (พบสูงสุดในคนอายุ 60-70 ปีขึ้นไป) แต่ก็อาจพบได้ในเด็กเล็กและคนวัยหนุ่มสาวได้ด้วยเช่นกัน ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน

มีรายงานว่า ในคนตะวันตกจะพบโรคนี้ได้ประมาณ 10-20% ของประชากร ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบคนที่มีอาการของโรคนี้ประมาณ 25-40% โดยคาดว่าเมื่อคนมีอายุยืนยาวมากขึ้นก็จะพบโรคนี้ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารเสื่อมตามอายุหรือหูรูดยังเจริญได้ไม่เต็มที่ (ในทารก) ในผู้สูงอายุ เซลล์ต่าง ๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อย ๆ เสื่อมลง ดังนั้นจึงทำให้หูรูดนี้หย่อนสมรรถภาพลง อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจึงดันย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ง่าย ส่วนในเด็กทารกจะเกิดจากหูรูดส่วนนี้ยังเจริญไม่เต็มที่ การทำงานจึงหย่อนยาน เด็กทารกจึงมีการขย้อนนมและอาหารออกมาได้ แต่อาการต่าง ๆ มักจะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดจะเริ่มแข็งแรงมากขึ้นแล้ว
  • มีปริมาณกรดค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ เนื่องจากกลไกในการกำจัดกรดในหลอดอาหารผิดปกติ เช่น มีน้ำลายน้อย หรือการบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ (ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนกลับขึ้นมาจากเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ)
  • กระเพาะอาหารบีบตัวลดลงเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากอายุที่สูงมากขึ้น (เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เซลล์ต่าง ๆ ทุกชนิดของร่างกายรวมทั้งหูรูดและของกระเพาะอาหารจะค่อย ๆ เสื่อมลง), จากการอักเสบของกระเพาะอาหารหรือของเส้นประสาทกระเพาะอาหาร จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด (เช่น ยาทางจิตประสาท), จากการได้รับสารบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว (เช่น แอลกอฮอล์, สะระแหน่) จึงส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและน้ำย่อยนานกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหารดันให้หูรูดนี้เปิดออก อาหารหรือน้ำย่อยจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร
  • การมีแรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น จึงดันให้หูรูดเปิดหรือปิดไม่สนิท ทำให้อาหารหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร เช่น อาการไอ โดยเฉพาะการไอเรื้อรัง, การตั้งครรภ์, โรคอ้วน, การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก, หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนเลย, การรับประทานอาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน (เช่น อาหารมัน) เป็นต้น
  • มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาวะกรดไหลย้อนเกิดบ่อยและนานขึ้น เช่น การมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่, การมีปริมาตรของกระเพาะเพิ่มมากขึ้น, กระเพาะอาหารขยายตัวมากขึ้น, กระเพาะมีกรดหรือสิ่งคัดหลั่งมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคกรดไหลย้อนกำเริบ

  • อายุ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีอายุสูงมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคนี้ก็ยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย
  • การรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก (อิ่มมากเกินไป) ซึ่งจะกระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก
  • การนอนราบ การนั่งงอตัว หรือโค้งตัวลงต่ำ เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงดันในกระเพา
  • อาหาร ทำให้อาหารและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารและลำคอได้ง่าย
  • การรัดเข็มขัดแน่นหรือใส่กางเกงคับเอว เพราะจะเป็นการเพิ่มแรงดันในกระเพา
  • อาหาร ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปได้ง่าย
  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
    • อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดในหลอดอาหารคลายตัว เช่น แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต สะระแหน่ เปปเปอร์มินต์
    • อาหารประเภทที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น ไขมัน มันฝรั่งทอด มันเผาหรือมันต้ม อาหารผัดหรืออาหารทอดที่อมน้ำมัน
    • อาหารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มและอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ผลไม้เปรี้ยว น้ำผลไม้รสเปรี้ยว (น้ำส้มคั้น) น้ำมะเขือเทศ
    • อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น กระเทียม หัวหอม น้ำอัดลม
    • เครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า ยาชูกำลังที่มีสารกาเฟอีน ฯลฯ เพราะจะกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาทางจิตประสาท ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น เพราะจะเสริมให้หูรูดหย่อนคลายตัวหรือน้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
  • การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารและอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง
  • ความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
  • เบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะมีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
  • โรคอ้วน เพราะจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
  • การตั้งครรภ์ เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
  • โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องจึงเกิดภาวะกรดไหลย้อน รวมทั้งการใช้ยาขยายหลอดลมก็มีส่วนทำให้หูรูดหย่อนด้วย
  • โรคถุงลมโป่งพอง เพราะเป็นโรคที่ส่งผลให้มีการไอเรื้อรัง
  • การมีไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia, Diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ ทำให้หูรูดอ่อนแอมากขึ้น
  • แผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) แผลหรือรอยแผลที่เป็นปลายกระเพาะอาหารหรือการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนสู่ลำไส้ได้ช้าลง จึงทำให้มีกรดไหลย้อนได้
  • โรคกล้ามเนื้อและ/หรือของเนื้อเยื่อต่าง ๆ (พบได้น้อย) ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อและ/หรือเนื้อเยื่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ในเบื้องต้นได้จากลักษณะอาการที่แสดงดังกล่าว การตรวจลำคอ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์เพื่อแยกจากโรคปอดต่าง ๆ การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ ให้แน่ชัด เช่น แผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจมีอาการที่คล้ายกับโรคกรดไหลย้อน (สำหรับโรคกรดไหลย้อน อาจตรวจพบร่องรอยการอักเสบของหลอดอาหาร แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารบาร์เรตต์ แต่ถ้าเป็นในระยะแรกเริ่มก็อาจตรวจพบรอยโรคที่หลอดอาหารก็ได้) และอาจตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกติจากการส่องกล้องตรวจไปพิสูจน์เพื่อแยกจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร และอาจมีการตรวจวิธีเฉพาะเพิ่มเติมอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง, การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์, การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร, การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร (ให้ผลที่ไวในการวินิจฉัยโรคที่สุด) เป็นต้น

ในรายที่ไปพบแพทย์ทางโรคหู คอ จมูก ด้วยอาการเสียงแหบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง หรืออาการหอบหืดเป็นมากขึ้น เนื่องจากมีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายเคืองที่กล่องเสียง คอหอย และหลอดลม แพทย์อาจวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการใช้เครื่องมือตรวจพบสายเสียงบวมแดง

วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน โรคกระเพาะ บ้านหมอละออง

  1. ถ้าเริ่มมีอาการในระยะแรก แพทย์จะให้รับประทานยาต้านกรดหรือยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ครั้งละ 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งเดียวในขนาด 300 มิลลิกรัม หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน นาน 2 สัปดาห์ ถ้าอาการดีขึ้นให้รับประทานจนครบ 8 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการกำเริบ หรือน้ำหนักตัวลดลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุ
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือเสียงแหบ เจ็บคอ หรือไอเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก หายใจลำบาก อาเจียน ซีด ตาเหลือง น้ำหนักตัวลด คลำได้ก้อนในท้อง ถ่ายอุจจาระดำ เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง เป็นต้น หรือพบในทารกที่มีอาการอาเจียนบ่อย ไอบ่อย หรือน้ำหนักตัวไม่ขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  3. นอกจากยาต้านกรดหรือยาลดกรด (Antacids) และยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) แล้ว แพทย์อาจให้ยากลุ่มออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหาร 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง, ดอมเพอริโดน (Domperidone) ชนิดเม็ดครั้งละ 1-2 เม็ด หรือชนิดน้ำครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร 30 นาที และก่อนนอน แต่ถ้าไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (Proton-pump inhibitor) เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหาร นาน 4-8 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจต้องให้นาน 3-6 เดือน โดยเฉพาะในรายที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน
  4. โรคนี้มักจะมีอาการกำเริบได้เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้โรคกำเริบ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ (แต่ถ้ายังมีอาการกำเริบขึ้นมาอีก ให้รับประทานยาเป็นครั้งคราวไปเรื่อย ๆ)
    • โรคนี้มักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควรใช้ยาช่วยควบคุมอาการเป็นระยะ ๆ และควรรับประทานทันทีที่อาการเริ่มกำเริบ
    • หมั่นสังเกตตนเองว่าเมื่อบริโภคอาหารชนิดใดและปริมาณเท่าใดแล้วทำให้อาการกำเริบหรือก่อให้เกิดอาการมากขึ้น (เป็นเพราะแต่ละคนจะไวต่ออาหารได้แตกต่างกันไป) แล้วพยายามหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการบริโภคสิ่งนั้น โดยเฉพาะกับอาหารมัน อาหารรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เป็นต้น
    • กรดไหลย้อนห้ามกินอะไร ? หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ ช็อกโกแลต กระเทียม หัวหอม สะระแหน่ การสูบบุหรี่ และการรับประทานยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาทางจิตประสาท ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาต้านแคลเซียม)
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณครั้งละมาก ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างรับประทานอาหาร แต่ควรเปลี่ยนมารับประทานอาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งแทน รับประทานอาหารให้ช้าและเคี้ยวให้ละเอียด ส่วนอาหารมื้อเย็นควรรับประทานในปริมาณน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารเสี่ยง และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
    • หลังรับประทานอาหารเสร็จ ไม่ควรนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ หรือก้มหยิบของ (ให้นั่งตัวตรงหรือยืนแทน) ควรนอนในท่าเอนตัวเสมอ ปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม และไม่ควรยกของหนักและออกกำลังกาย แต่ต้องรอให้อาหารย่อยผ่านกระเพาะอาหารไปก่อนประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังการรับประทานอาหาร
    • เคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหาร เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่งจะทำให้มีน้ำลายมากซึ่งจะไปช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและหลอดอาหารได้ (ควรหลีกเลี่ยงหมากฝรั่งรสเปปเปอร์มินต์)
    • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบายตัว ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดจนแน่นเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความดันต่อกระเพาะอาหาร
    • ในรายที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ควรหาทางลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสม
    • ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน ควรหนุนศีรษะให้สูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูงหรือใช้อุปกรณ์พิเศษสอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงนอนที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ส่วนวิธีการหนุนหมอนให้สูงนั้นไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจจะทำให้ท้องโค้งงอ ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นได้
    • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้
    • รักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคของกะบังลม โรคกล้ามเนื้อหรือของเนื้อเยื่อต่าง ๆ แผลเพ็ปติก โรคหืด
    • ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวร้ายลงหรือผิดไปจากเดิม
    • รีบไปพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่ออาเจียนเป็นเลือดหรือไอเป็นเลือด, ไอมากหรือสำลักบ่อย, เจ็บคอมาก, เจ็บเวลากลืนหรือกลืนแล้วติด, เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง, อาเจียนหรือขย้อนอาหารบ่อยมาก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, อุจจาระดำ (ลักษณะเหมือนยางมะตอย เพราะเป็นอาการมีเลือดออกในหลอดอาหารและ/หรือในกระเพาะอาหาร), อ่อนเพลีย ซีด และน้ำหนักตัวลดอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุ
  5. ในรายที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานานแล้วและยังไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดการใช้ยาได้ หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานานและมีผลข้างเคียงจากยา หรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น หลอดอาหารตีบ หลอดอาหารอักเสบรุนแรง กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคหืดกำเริบบ่อย หรือมีไส้เลื่อนกะบังลมขนาดใหญ่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม (ผูก) หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารด้วยวิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง (Laparoscopic fundoplication) แต่บางรายแพทย์ก็อาจให้การรักษาด้วยวิธีการใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency therapy) เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตรงส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลเป็นดึงรั้งให้หูรูดหดแน่น ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้