สะเก็ดเงิน ไม่ติดต่อ ดีขึ้นได้ถ้ารักษาถูกวิธี

สะเก็ดเงิน

     หากพูดถึงโรคผิวหนัง เชื่อว่าหนึ่งในนั้นที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ อย่าง “สะเก็ดเงิน” โรคที่หลายคนต่างกลัวและยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคมากนัก บางคนคิดว่าเป็นโรคติดต่อ ถ้าสัมผัสจะติดกันไหม รักษาไม่ได้บ้าง และนั่นกลายเป็นว่าผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินกลายเป็นที่รังเกียจไปโดยปริยาย วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคสะเก็ดเงิน และแนะนำวิธีการรักษากันค่ะ

สะเก็ดเงิน คืออะไร

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักพบได้ในทุกช่วงวัย ทุกเชื้อชาติ แต่จะพบมากในอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งพบได้ราว ๆ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และยังมีการพบว่าในผู้ที่อายุน้อยจะพบความรุนแรงของโรคได้มากกว่าอีกด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงเรียกโรคนี้ว่า “สะเก็ดเงิน” นั่นมาจากลักษณะของผื่นที่เป็นปื้นหรือตุ่มแดง มีขอบเขตที่ชัดเจน ส่วนบนผื่นนั้นจะเป็นสะเก็ดสีขาวคล้ายสีเงินปกคลุมอยู่ และหากเราเกา สะเก็ดดังกล่าวจะหลุดออก ทำให้เห็นจุดเลือดออกบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะของโรคสะเก็ดเงินนั่นเอง แต่ทั้งนี้ ลักษณะของผื่นจะแตกต่างกันไปตามระยะของโรคด้วยค่ะ

สะเก็ดเงินติดต่อกันหรือไม่

เชื่อเถอะค่ะว่า ยังมีคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้กันมากเพราะคิดว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคติดต่อ แต่แท้จริงแล้ว โรคสะเก็ดเงินไม่ติดต่อกันนะคะ เพียงแค่ว่าเป็นโรคผิวหนังที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่จะไม่ติดต่อกันโดยการสัมผัส เพราะฉะนั้น เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคนี้ได้

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน

สำหรับสาเหตุของโรคสะเก็ดเงินนั้น อันที่จริงยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็มีการคาดการณ์ถึงสาเหตุเอาไว้หลายสาเหตุด้วยกันที่จะมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นมา แต่ละคนที่เป็นก็มาจากสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. ปัจจัยกระตุ้นภายใน ที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงิน ได้แก่
  • พันธุกรรม มีงานวิจัยในเยอรมันพบว่า ถ้าพ่อแม่เป็นสะเก็ดเงิน ลูกมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ถึง 41% แต่ถ้าพ่อหรือแม่เป็นสะเก็ดเงิน โอกาสที่ลูกจะเป็นเหลืออยู่ที่ 14%
  • เซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์ จนกลายมาเป็นสะเก็ดเงินในที่สุด

สะเก็ดเงินที่หัว

  1. ปัจจัยกระตุ้นภายนอก ที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงิน ได้แก่
  • ได้รับสารพิษ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเสพยาเสพติด
  • การแกะเกา เสียดสี และขูดขีดที่ผิวหนัง
  • การติดเชื้อนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคหวัด การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคอ้วน ผิวหนังระคายเคืองจากการแพ้ผงซักฟอก
  • การบาดเจ็บทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นรอยถลอกเล็กน้อยหรือการถูกของมีคม รวมถึงได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างผิดวิธี ก็สามารถนำไปสู่การเกิดโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงินได้เช่นกัน
  • การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินจะมีอาการดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ต จึงมีการนำรังสีดังกล่าวนั้นมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงินด้วย
  1. ปัจจัยกระตุ้นทางด้านจิตใจ ที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงิน ได้แก่
  • ความเครียด เป็นสาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด ซึ่งความเครียดจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้อีกด้วย และนั่นจะทำให้การรักษาโรคสะเก็ดเงินเป็นไปได้ยากขึ้น

อาการของสะเก็ดเงิน

หากใครสงสัยว่าเราจะสังเกตตัวเองได้อย่างไร ว่าเราเป็นสะเก็ดเงินหรือไม่ แนะนำว่าให้สังเกตจากอาการที่เป็นค่ะ โดยอาการของสะเก็ดเงินนั้นสามารถแบ่งได้มากมายตามประเภทของสะเก็ดเงินได้ดังนี้

ลักาณะอาการสะเก็ดเงิน

  • สะเก็ดเงินลักษณะผื่นหนาเฉพาะที่ (Chronic Plaque Type Psoriasis) พบได้บ่อยที่สุด จะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดปกคลุม และมักกระจายไปตามส่วนที่มีเสียดสี เช่น หนังศีรษะ หลัง ลำตัว แขนขาทั้งสองข้าง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ยิ่งบริเวณไหนที่มีการขยับตัวบ่อย ๆ จนเกิดการเสียดสี เช่น ข้อพับขา ข้อศอก หัวเข่า
  • สะเก็ดเงินลักษณะหยดน้ำ (Guttate Psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่เกิดอย่างฉับพลัน เป็นผื่นขนาดเล็กตามตัว แขนขา และจะกระจายไปได้ทั่วตัว สะเก็ดเงินชนิดนี้จะพบบ่อยในเด็กซะมากกว่า พบว่ามักเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • สะเก็ดเงินลักษณะผิวแดงลอกทั้งตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินชนิดที่รุนแรงที่สุดและสร้างความทรมานให้ผู้ที่เป็นไม่น้อยเลยค่ะ เนื่องจากจะมีอาการเป็นผื่นแดงตามผิวหนัง จากนั้นจะเริ่มเป็นขุยลอกเกือบจะทุกส่วนของร่างกาย คัน และเจ็บตามผิวหนัง
  • สะเก็ดเงินลักษะผื่นแดงราบ (Flexural Psoriasis) จะมีผื่นแดงราบ เป็นขุยหรือไม่เป็นก็ได้ มีรอยแตกตรงกลางตามข้อพับต่าง ๆ ของร่างกาย
  • สะเก็ดเงินลักษณะตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ กระจายบนผื่นแดงราบ

ด้วยความที่โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนัง ดังนั้นรอยโรคสามารถเกิดได้ทุกที่ในร่างกาย แต่อวัยวะเด่น ๆ ที่มักจะพบ ได้แก่

  • ผิวหนังทุกส่วน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
  • เล็บมือและเล็บเท้า เล็บของผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินจะแสดงความผิดปกติในหลายรูปแบบ เช่น ผิวของเล็บเป็นหลุมเล็ก ๆ ถึงขั้นเล็บขรุขระจนผิดรูป บางรายอาจพบเล็บหนา เล็บล่อน

การรักษาสะเก็ดเงิน

สำหรับการรักษาโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงินนั้น จะรักษาโดยประเมินจากความรุนแรงของโรค แบ่งได้เป็น

  1. สะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงน้อย
    มีผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่น 1 ฝ่ามือ = พื้นที่ประมาณ 1%) จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาทาจำพวกครีมสเตียรอยด์ เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) หรือ ขี้ผึ้งน้ำมันดินหรือโคลทาร์ (Coal tar) ชนิด 1-5% หรืออาจใช้ทั้ง 2 สลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา

สะเก็ดเงินที่แขนขาลำตัว

  1. สะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงมาก
    มีผื่นผิวหนังอักเสบมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย กลุ่มนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่จะเป็นการรักษาเพื่อควบคุมไม่ให้อาการกำเริบและเกิดความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะรักษาโดยให้รับประทานยาจำพวกโซลาเรน (Psoralen) ร่วมกับการฉายแสงแดดเทียม(รังสีอัลตราไวโอเลต – บี) หรือในบางรายจะต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอย่างยากลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซท (Methotrexate)

นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังมีการรักษาด้วยแพทย์แผนโบราณที่มีการศึกษาวิจัยมาว่าสามารถช่วยควบคุมอาการจากสะเก็ดเงินได้ด้วยค่ะ โดยสมุนไพรที่ใช้มีมากมาย เช่น พลูคาว เหงือกปลาหมอ รางจืด ขันทองพยาบาท ทั้งนี้ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสะเก็ดเงิน

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว สิ่งสำคัญอย่างการดูแลตัวเองก็มีส่วนสำคัญมากที่จะรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายหรือดีขึ้นได้ ซึ่งเราสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้

นอนหลับให้เพียงพอ

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดีในการต่อสู้กับโรคสะเก็ดเงิน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารและแร่ธาตุอย่างเพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบ (อาหารต้องห้าม ของโรค สะเก็ดเงิน) และเกิดการระคายเคือง เช่น ความเครียด การแกะเกา บาดแผลบนผิวหนัง การดื่มแอลกอฮอล์
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

วิธีการป้องกันโรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ รวมถึงพันธุกรรม ดังนั้นทางเดียวที่เราจะป้องกันตัวเองได้ นั่นคือการทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอทั้งร่างกายและจิตใจ

แม้ว่าปัจจุบันสะเก็ดเงินจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถที่จะคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ค่ะ โดยอาศัยการรักษาแบบผสมสานกันไป ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และยาสมุนไพรไทย เพื่อที่จะสามารถปรับลดขนาดยาและผลข้างเคียงจากการรักษาในระยะยาวได้ สิ่งสำคัญคือผู้ที่เป็นควรดูแลตัวเองให้ดีทั้งกายและใจ รวมถึงญาติ ๆ ก็ควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจ ไม่ควรแสดงอาการรังเกียจ เพราะสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ

ชุดทดลองรักษาสะเก็ดเงิน

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=49
https://www.nhs.uk/conditions/psoriasis/treatment/
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/symptoms-causes/syc-20355840
https://mgronline.com/qol/detail/9610000005617
https://www.poonrada.com/knowledge/detail/19
http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4806/