หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

ไม้ล้มลุก (H) แตกกิ่งก้านสาขา ต้นสูง 15-60 ซม. มีขนทั่วไป ออกดอกเพียงครั้งเดียวแล้วก็ตาย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือเกือบจะตรงกันข้ามกัน ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจเล็กน้อยและเป็นครีบลงไปตามก้านใบ ก้านใบยาว เนื้อใบขรุขระมีขน

ดอก ออกเป็นช่อที่ยอด เป็นช่อเดี่ยวหรือช่อคู่ ปลายช่อม้วนเหมือนงวงช้าง ดอกเรียงเป็นแถวอยู่ด้านเดียว สีขาวหรือสีฟ้า มีขนาดเล็ก กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่ ฐานเชื่อมติดกัน ด้านนอกมีขนยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อทรงกระบอก คอคอด ปลายแยกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ เวลาบานกางออก ด้านนอกมีขน เกสรตัวผู้ 5 อันติดอยู่ภายในท่อ เกสรตัวเมีย 2 อันติดกันที่ฐาน

ผล ลักษณะรูปไข่ ขนาดเล็ก เปลือกแข็ง 2 ผลติดกัน แต่ละผลภายในมี 2 ช่อง ช่องหนึ่งมี 1 เมล็ด ผลมีสีดำ

นิเวศวิทยา

เป็นไม้กลางแจ้ง มักพับขึ้นทั่วไปในที่ที่มีความชื้น

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสเย็นเฝื่อน โขลกคั้นเอาน้ำหยอดตาแก้ตาเจ็บ ตามัว ตาฟาง

ทั้งต้น รสเย็นเฝื่อน แก้โรคลักปิดลักเปิด แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้หืด แก้ไข้ แก้ขัดเบา ดับพิษร้อน ลดบวม ปอดอักเสบ มีหนองในช่องปอด เจ็บคอ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคชักในเด็ก ปากเปื่อย แผลบวมมีหนอง แก้ตาฟาง

ใบ รสเย็นเฝื่อน หยอดหู รักษาโรคผิวหนัง พอกฝี พอกแผล

น้ำจากใบ รสเย็นเฝื่อน ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำรักษาสิว ทำยาหยอดตาแก้ตาฟาง ทำยาอมกลั้วคอแก้เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ ลดน้ำตาลในเลือด

ดอก รสเย็นเฝื่อน ต้มเอาน้ำดื่มโดยใช้แต่น้อย ๆ เป็นยาขับระดู ถ้าใช้มากอาจทำให้แท้งได้

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • แก้อาการไอ ขับปัสสาวะและแก้หอบหืด ใช้ลำต้นสดประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้เดือดแล้วกรองเอาน้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 1-2 เวลา
  • รักษาสิว พอกแผลและรักษาโรคผิวหนัง โดยใช้ใบสด 10-20 ใบ นำมาโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นสิว หรือโขลกให้ละเอียดแล้วใช้พอกแผล พอกฝี