“ปวดตามข้อ” อาการที่ไม่ควรมองข้าม 4 โรคข้อยอดฮิตในคนไทย

ปวดตามข้อ

คนส่วนใหญ่มักจะละเลยอาการปวดที่เกิดตามข้อต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อสะโพก และมักคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดที่เกิดขึ้นตามอายุที่สูงขึ้นหรือบาดเจ็บจากการใช้งาน การกินยาบรรเทาอาการปวดและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมและท่าทางต่างๆ ที่ทำให้อาการปวดข้อกำเริบจึงเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งอาการปวดข้ออาจหายไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดข้อก็กลายเป็นปวดเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นอาการนำของโรคร้ายบางชนิด


ปวดข้อ ปวดเข่า

ปวดตามข้อ คือหนึ่งในลักษณะอาการที่บ่งบอกได้หลายโรคด้วยกัน ได้แก่ โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ ข้อเสื่อม และโรค เอส แอล อี ซึ่งแต่ละโรคก็มีลักษณะอาการปวดตามข้อที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันออกไป เช่น

  • โรคเกาต์ อาการปวดที่เกิดขึ้น มักเกิดบวมแดงร้อนข้อแบบเฉียบพลัน แม้ว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการกระทบกระแทกรุนแรงใดๆ มีอาการปวดข้อเดียวไม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายข้อ ข้อที่พบว่าเป็นโรคเก๊าท์ได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า
  • โรคข้อเสื่อม ระยะเริ่มต้นจะมีอาการปวดสัมพันธ์กับการใช้งาน ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้ออาจมีการอักเสบร่วมกับข้อเริ่มโค้งงอ เหยียดงอไม่สุด ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้น จากกระดูกงอกหนา ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างขึ้น กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง
  • โรค เอส แอล อี เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายอวัยวะหรือหลายระบบของร่างกาย บางรายอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน บางรายมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใด อวัยวะหนึ่งทีละระบบ มักมีอาการทางข้อและกล้ามเนื้อเป็นอาการนำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ มักเป็นข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางครั้งมีบวมแดงร้อนร่วมด้วยคล้ายผู้ป่วยรูมาตอยด์ แต่บางรายอาจรุนแรงถึงชีวิต
ชุดทดลองรักษาสะเก็ดเงิน

อาการของโรครูมาตอยด์

อาการปวดข้อรูมาตอยด์มักเกิดมากที่สุดช่วงตื่นนอน อาจมีอาการอยู่ 1-2 ชั่วโมง หรือทั้งวันก็ได้ มีอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก ตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุดมักจะเป็นที่ข้อมือ และข้อนิ้วมือ แต่มีโอกาสปวดข้อไหนก็ได้ ลักษณะอาการปวดข้อช่วงเช้านี้เป็นลักษณะสำคัญของโรครูมาตอยด์ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ ตาแห้ง ปากแห้งผิดปกติ พบก้อนใต้ผิวหนังบริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ

สาเหตุของโรครูมาตอยด์

สาเหตุของโรครูมาตอยด์เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่ง โดยภูมิต้านทานของผู้ป่วยมีการทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อ บางรายรุนแรงจนพิการจากกระดูกถูกทำลาย ผิดรูป จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในระยะหลัง ทำให้เกิดความเข้าใจถึงตัวแปรต่างๆ ในกระบวนการอักเสบมากขึ้นจนมีการค้นพบตัวยาใหม่ๆ ที่จะยับยั้งขบวนการอักเสบ และลดการทำลายของข้อ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และรักษาได้เร็ว จะสามารถยับยั้งการทำลายของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อได้ โรครูมาตอยด์จะพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ของประชากรในประเทศไทย

การวินิจฉัยโรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีความลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเป็นผู้วินิจฉัย

การวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายทางข้อที่พบว่ามีลักษณะร้อน บวมแดงและปวด การเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะแสดงให้เห็นถึงภาวะซีด ตรวจพบ Rheumatoid Factor ค่า Anti CCP IgG ขึ้นสูงและค่าการอักเสบในเลือดที่สูงขึ้น (ESR) ค่า ESR ที่สูงขึ้นมักจะสัมพันธ์กับจำนวนข้อที่อักเสบ นอกจากนี้การถ่ายภาพรังสี – เอกซเรย์หรือการทำ MRI สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ดวย โดยดูจากความรุนแรงของข้อที่ถูกทำลายไป

อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือน การวินิจฉัยมักจะอาศัยอาการนำที่สำคัญ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการมารวมกัน ในการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค

การรักษาโรครูมาตอยด์

การรักษาโรคมีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน คือ

  1. การใช้ยา ในปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยารักษารูมาตอยด์โดยเฉพาะ ยาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคสารชีวภาพ และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์
  2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย
  3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมาก
  4. การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว

หากร่างกายเริ่มแสดงอาการปวดตามข้อก็ควรที่จะพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะปวดเรื้อรังจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
—————————————————————————————————————————————————————————————————————

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :นพ. สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ