ไม้พุ่มล้มลุก ขนาดเล็ก เนื้ออ่อน สูง 30-60 ซม. มีอายุหลายปี ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมเห็นได้ชัดเจน มีสีม่วงแดง และมีขนเล็กน้อย แตกกิ่งก้านสาขามาก โคนต้นอ่อนโค้ง ปลายตั้งตรง ตามยอดอ่อนมีขนกระจาย ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม สีเขียวเข้ม รูปไข่ หรือรูปสี่เหลี่ยมข้ามหลามตัด ตามเส้นใบมักมีขน กว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ยกเว้นขอบที่โคนใบจะเรียบ มีขนตามเส้นใบทั้งด้านบนและด้านล่าง เนื้อใบบาง ก้านใบยาว 2-4.5 ซม. มีขน ดอกสีขาว หรือขาวอมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อกระจะตั้งขึ้น ที่ปลายยอด เป็นรูปฉัตร ยาว 7-29 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1.5 เซนติเมตร ดอกจะบานจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ริ้วประดับรูปไข่ ยาว 1-2 มม. ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง งอเล็กน้อย ยาว 2.5-4.5 มม. เมื่อเป็นผลยาว 6.5-10 มม. ด้านนอกมีต่อมน้ำมันหรือเป็นปุ่มๆ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรงเล็ก ยาว 10-20 มม. ปลายแยกเป็นปากสองปาก ปากบนใหญ่กว่า ปากบนมีหยักตื้นๆ 4 หยัก โค้งไปทางด้านหลัง ปากล่างตรง โค้งเป็นรูปช้อน เกสรเพศผู้มี 4 อัน เรียงเป็น 2 คู่ คู่ล่างยาวกว่าคู่บนเล็กน้อย ก้านเกสรยาว เกลี้ยง ไม่ติดกัน ยื่นยาวออกมานอกกลีบดอกเห็นได้ชัดเหมือนหนวดแมว อับเรณูเป็น 2 พู ด้านบนบรรจบกัน ก้านเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว 5-6 ซม. ปลายก้านเป็นรูปกระบอง ปลายสุดมี 2 พู ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนานกว้าง แบน แข็ง สีน้ำตาลเข้ม ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1-2 มม. ผลจะเจริญเป็น 4 ผลย่อยจากดอกหนึ่งดอก ตามผิวมีรอยย่น ออกดอกและติดผลราวเดือนกันยายนถึงตุลาคม ชอบขึ้นที่ชื้น มีแดดรำไรในป่าริมลำธาร หรือน้ำตก
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใบ รสจืด ใช้เป็นยาชงแทนใบชา กินขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้โรคไต และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้ปวดเมื่อย และไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำ ขับกรดยูริกจากไต แก้หนองใน ราก ขับปัสสาวะ ทั้งต้น แก้โรคไต ขับปัสสาวะ รักษาโรคกระษัย รักษาโรคปวดตามสันหลัง และบั้นเอว รักษาโรคนิ่ว รักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบ
องค์ประกอบทางเคมี
ใบ พบ glucoside orthosiphonin, myoinositol, essential oil, saponin, alkaloid, phytosterol, tannin พบสารกลุ่มฟลาโวน เช่น sinensetin, 3’-hydroxy-5,6,7,4’-tetramethoxy flavones ใบพบเกลือของโปแตสเซียมสูง จึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต และสตรีมีครรภ์
การทดสอบทางคลินิก
ผู้ป่วยที่ได้รับยาชงหญ้าหนวดแมว มีการขับกรดยูริคออกมาในปัสสาวะเพิ่มขึ้น และทำให้น้ำปัสสาวะเป็นด่าง ทำให้กรดยูริคตกตะกอนน้อยลง ขยายหลอดไตให้กว้างขึ้น ทำให้อาการปวดนิ่วทุเลาลง
ผู้ป่วยโรคนิ่วในท่อไตที่ได้รับยาต้มหญ้าหนวดแมว มีรายงานว่าทำให้นิ่วหลุดออกได้ มีอาการปวดทุเลาลง และปัสสาวะคล่องขึ้น และปัสสาวะใส